วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2550

แร้งครับแร้ง

ภารกิจปล่อย ‘แร้งดำหิมาลัย’
บินกลับคืนสู่เวหาเรียบร้อยแล้วสำหรับนกอีแร้งดำหิมาลัย ที่ได้บินอพยพแล้วมาพลัดตกในประเทศไทย ที่ อ.สอยดาว จ.จันทบุรี เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 49 ที่ผ่านมา แล้วได้รับการฟื้นฟูสุขภาพจนแข็งแรงพร้อมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ที่ ดอยลาง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมา โครงการฟื้นฟูสุขภาพแร้งดำหิมาลัยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตรศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนเครื่องบิน C-130 จากกองทัพอากาศ เพื่อใช้ในการเดินทาง การปล่อยนกอีแร้งดำหิมาลัยหรือ “อนาคิน” (ชื่อที่ จนท.ของโครงการฯ ตั้งให้) ครั้งนี้ได้ปล่อยรวมกับนกอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยอีก 4 ตัวที่บินพลัดหลงมาตกในเมืองไทยเช่นกัน โดยภารกิจครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่เช้าวันที่ 9 พ.ค. ที่ กองบิน 6 กองทัพอากาศ เครื่องบินได้ออกเดินทางเวลาประมาณ 9 โมงเช้า ใช้เวลาบินประมาณ 1.30 ชั่วโมง ก็ถึงสนามบินเชียงราย จากนั้นต่อรถอีกประมาณ 2.30 ชม. ก็ถึงดอยลาง อย่างไรก็ตาม ในวันแรกเมื่อเดินทางถึงดอยลางแล้วสภาพอากาศปิดทาง ผศ.นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว อาจารย์จาก คณะสัตวแพทย์ ม.เกษตศาสตร์ บอกว่า หากในวันพรุ่งนี้ อากาศยังปิดเช่นนี้การปล่อยนกทั้งหมดคงไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีลมร้อนพัด และขนปีกของนกจะเปียกไม่สามารถบินได้ไกล อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะปล่อยนกในวันรุ่งขึ้น ได้ทำการติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม (satellite telemetry) และ รหัสปีก (Wing Tag) ให้กับเจ้า “อนาคิน” โดยได้ Mr.Nyamba Batbayar (เนียมบา บัทบายาร์) นักปักษีวิทยาจากประเทศมองโกเลีย ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมกับนกชนิดนี้มาช่วย เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมเครื่องนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด นำเข้ามาจากอเมริการาคาประมาณ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ และต้องเสียค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมอีกปีละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) มีอายุการใช้งาน 3 ปี เครื่องสามารถส่งข้อมูลได้ทุกชั่วโมงในช่วงเวลาที่มีแสง โดยข้อมูลจะถูกส่งขึ้นไปยังดาวเทียม ARGOS ของอเมริกา จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งกลับมายังภาคพื้นดินที่สหรัฐแล้วทางนั้นก็จะส่งข้อมูลกลับมาให้ทางอีเมล ทุก ๆ 3 วัน ทั้งนี้ในเช้าวันต่อมาโชคดีที่สภาพอากาศบริเวณจุดปล่อยซึ่งเป็นหน้าผา ติดกับพม่าและห่างจากประเทศจีน 400 กม. นั้นมีแสงแดดและลมพัด ต่างจากเมื่อวานโดยสิ้นเชิง ทาง จนท.จึงได้เริ่มเปิดกรงปล่อยนกเมื่อเวลาประมาณ 09.25 น. ซึ่ง “อนาคิน” และอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยไม่บินในทันที ได้กางปีกผึ่งลมและแดด จนถึงเวลาประมาณ 10.10 น. นกอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย 3 ตัว ก็บินออกจากหน้าผาไปก่อน แต่ “อนาคิน” และอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยอีก 1 ตัวไม่ยอมบิน ทำให้ นสพ.ดร.ไชยยันต์ ต้องเดินเข้าไปกระตุ้นอีแร้งหิมาลัยสีน้ำตาลตัวที่เหลือจึงบินขึ้นเวหาไป ส่วนเจ้า “อนาคิน” ต้องอุ้มขึ้นมาแล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ จึงยอมบินออกไปท่ามกลางความโล่งอกของทุกฝ่าย นสพ.ดร.ไชยยันต์ บอกว่า เหตุที่ “อนาคิน” ไม่บินแต่แรกเป็นเพราะถูกเลี้ยงในกรงมานานถึง 4 เดือน อาจยังไม่ชินกับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องเข้าไปกระตุ้นเพื่อให้ทั้งหมดบินกลับถิ่นไปพร้อมกันและช่วยกันหาอาหาร ทั้งนี้หลังจากปล่อย “อนาคิน” เดินทางกลับบ้านเรียบร้อย นสพ.ดร.ไชยยันต์ ได้ให้ข้อมูลการบินที่ได้จากเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมว่า ในวันที่ 11 พ.ค. หลังจากปล่อย 1 วัน “อนาคิน” ได้บินอยู่ในประเทศพม่า ห่างจากจุดที่ปล่อยไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 152.48 กม. บินด้วยความเร็ว 65 กม.ต่อชั่วโมง และได้เกาะพักผ่อนในป่าดิบเขา ระดับความสูง 1,103 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ส่วนวันที่ 12 พ.ค. 2550 “อนาคิน” ไม่ได้บินตลอดทั้งวัน คาดว่าสภาพอากาศไม่เหมาะสมต่อการร่อน หรืออาจจะเจอฝนทั้งวัน เมื่อเวลา 21.00 น. ได้เกาะพักผ่อนห่างจากจุดที่พักเมื่อวันที่ 11 พ.ค. เป็นระยะทาง 0.92 กม. ในป่าดิบเขา ซึ่งจุดที่เกาะพักอยู่ระหว่างแม่น้ำขนาดใหญ่ 2 สาย ในรัฐฉาน ซึ่งน่าจะช่วยในการบินขึ้นเหนือ เพราะนกอพยพจะใช้ลักษณะภูมิประเทศ เช่น แนวเทือกเขา แม่น้ำ เป็นเสมือนแผนที่ในการอพยพ สำหรับผู้อ่านที่อยากติดตามความเคลื่อนไหวในการบินกลับบ้านของ “อนาคิน” ก็เข้าไปติดตามกันได้ที่ http://www.thairaptorgroup.com/ อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ทางโครงการได้รับการสนับสนุนสามารถเช่าดาวเทียมได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น ผู้ที่สนใจจะบริจาคสมทบทุนโครงการฯ สามารถบริจาค ที่บัญชี “กองทุนฟื้นฟูแร้งดำหิมาลัย สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย” บัญชีออมทรัพย์ ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาเทสโก้โลตัส ฟอร์จูนทาวน์ เลขที่บัญชี 240-2-02731-7 ทั้งนี้ทางทีมงานได้พัฒนาโครงการฯ เพื่อตั้งเป็น “ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพนกเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” เพื่อทำงานช่วยเหลือนกอพยพที่บินพลัดหลงมาตกในเมืองไทย ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต.
จิราวัฒน์ จารุพันธ์mailto:จารุพันธ์jirawatj@dailynews.co.th
จากเวปhttp://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=39928&NewsType=2&Template=1

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยาวที่สุดในโลกเลยวิน...

ไม่มีใครนั่งอ่านทุกตัวจนจบหรอก (หรือมี) -*-

ย่อหน่อยก็ดีนะ..

konnarac กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
konnarac กล่าวว่า...

ย่อหน่อยๆ

ก้วยเจ๋ง กล่าวว่า...

ตอนนี้ย่อสุดชีวิตแทบขาดใจแล้วครับ ย่อได้แค่นี้หละครับ

faxkids กล่าวว่า...

ย่อเป็นมั้ยกลับไปเรียนย่อความใหม่เลยไป

*Dean_ned* กล่าวว่า...

**ยาวปายอ่าคับ ย่อหน่อยดิ**